
“บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต”ขยายตัว การละเมิดลิขสิทธิ์แนวโน้มโตตาม
บีเอสเอเชื่อแนวโน้มการละเมิดลิขสิทธิ์บนเน็ตแนวโน้มโตสูง ตามการขยายตัวของบรอดแบนด์ เพราะสามารถดาวน์โหลดข้อมูล และซื้อขายกันได้เร็ว ล่าสุดร่วมมือกับสศก.จับผู้กระทำผิดที่หลอกผู้ซื้อผ่านเว็บไซต์ประมูลสินค้า pramool.com ในช่วงระยะเวลา 22 เดือน สร้างความเสียหายกว่า 660 ล้านบาท
นายทารุณ ซอว์เนย์ ผู้อำนวยการฝ่ายปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ในเอเชีย กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) กล่าวว่า กองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ (สศก.) ได้บุกจับผู้เสนอขายซอฟต์แวร์เถื่อนทางอินเทอร์เน็ต ที่หลอกล่อผู้ซื้อผ่านเว็บไซต์ประมูลสินค้า pramool.com หลังได้รับเบาะแสจากบีเอสเอ
การบุกจับครั้งนี้เกิดขึ้นที่บ้านผู้ต้องหาซึ่งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยสามารถยึดของกลางเป็นคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง พร้อมเครื่องบันทึกซีดี 2 เครื่อง และซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายจำนวนมาก โดยผู้ลักลอบดำเนินธุรกิจผิดกฎหมายดังกล่าวทำมาตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2547 โดยเปิดประมูลซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายจำนวนมากในราคา 50 บาท
สำหรับฮาร์ดดิสก์คอมพิวเตอร์ที่ยึดเป็นของกลาง พบไฟล์โปรแกรมจำนวนมาก โดยส่วนหนึ่งเป็นซอฟต์แวร์ของสมาชิกบีเอสเอ ไม่ว่าจะเป็นอะโดบี, ออต็เดกส์, แมคโครมีเดีย, แมคอาฟี่, ไมโครซอฟท์ และไซแมนเทค ซึ่งทั้งหมดถูกจัดเตรียมไว้สำหรับบันทึกลงบนแผ่นซีดี หลังจากมีการประมูลเสร็จสิ้นลง ซึ่งผู้ขายจะรอจนกว่าผู้ซื้อโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 5 บัญชี จากนั้นก็จะจัดส่งแผ่นซีดีให้แก่ผู้ซื้อทางไปรษณีย์
นอกจากซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายแล้ว ผู้ต้องหารายนี้ยังเสนอขายซีดีภาพยนตร์ เพลง เกม และหนังโป๊ จนสร้างรายได้ให้ถึงเดือนละ 7 หมื่นบาท โดยมีต้นทุนเพียงเดือนละประมาณ 5,000 บาท แต่การกระทำดังกล่าวได้สร้างความเสียหายให้กับเจ้าของลิขสิทธิ์คิดเป็นมูลค่าในช่วงระยะเวลา 22 เดือนนี้ประมาณ 660 ล้านบาท
“เราได้ติดตามพฤติกรรมผู้ต้องหารายนี้มาประมาณ 3 เดือน เพราะเป็นการทำแบบรวมโปรแกรม ซึ่งก็เหมือนการทำขายที่พันธุ์ทิพย์ จนสามารถจับกุมได้”
แต่ในทางกฎหมายเจ้าเว็บไซต์ถือว่าไม่มีความผิด เนื่องจากเป็นผู้จัดเตรียมเว็บไซต์ซึ่งเป็นตลาดกลางทางอิเล็กทรอนิกส์ให้กับผู้ประมูลสินค้าเท่านั้น ซึ่งขณะนี้บีเอสเอก็มีการแจ้งให้เจ้าของเว็บไซต์ทราบ และมีการตัดชื่อ และสินค้าของผู้ต้องหารายนี้ออกไปแล้ว
นายทารุณกล่าวว่า การจับกุมครั้งนี้ถือเป็นรายแรกในรอบปีนี้ ที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเทอร์เน็ต และการทำลักษณะนี้แนวโน้มจะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรือบรอดแบนด์มีการขยายตัวสูง ทำให้การดาวน์โหลด การซื้อขายสามารถทำได้สะดวก รวดเร็ว
ทั้งนี้ จากการสำรวจของบีเอสเอในไทยเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ทางอินเทอร์เน็ตรอบปี 2546 มีประมาณ 141 ราย ส่วนปี 2547 มีเพิ่มขึ้นเป็น 1,304 ราย ซึ่งการโตแบบก้าวกระโดดนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของบรอดแบนด์ และทั่วโลกจากผลการสำรวจแค่ 2 สัปดห์ สร้างความเสียหายสูงถึง 239 ล้านเหรียญสหรัฐ
“แนวโน้มการละเมิดลิขสิทธิ์แบบนี้ยังจะมีอีกมาก ยิ่งบรอดแบนด์บูม ยิ่งจะโตเร็ว”
จากนโยบายในการจัดการกับการละเมิดทุกรูปแบบของบีเอสเอ ได้มีการปรับหมายเลขโทรศัพท์สายด่วนบีเอสเอจากเดิมคือ 02-971-4140 เป็น 1800-291-005 ทั้งนี้ เพื่อให้การป้องปรามมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้น